ถ้าเรารักใคร เราต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เรารัก อยู่กับเราสั้นลง
คนที่เรารักไม่จากเป็นก็จากตาย
จากข้อความหนึ่งในหนังสือชุด The Book of Truth บทสนทนาว่าด้วยความรัก จากพราก ความตาย กล่าวถึงความรู้สึก ‘สั่นไหว’ ที่มนุษย์มีต่อการ ‘จากพราก’ และวิธีรับมือกับความรู้สึกที่ยากลำบากเมื่อต้องเผชิญโรคมะเร็ง
เราคัดเลือกบางส่วนของบทสนทนาระหว่าง ‘แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต’ และ ‘มนทิรา จูฑะพุทธิ’ มาฝากผู้อ่าน Walk of Wisdom เพื่อหวังว่าทุกคนจะมีสติเพื่อโอบกอดร่างกายของตัวเอง ด้วยความรักและรู้สึกขอบคุณทุกลมหายใจมากยิ่งขึ้น

ยิ่งร่างกายไม่แข็งแรง จิตใจยิ่งต้องเข้มแข็ง
มนทิรา : ขณะนี้ท่านหายจากการเป็นมะเร็งแล้ว แต่กรุณาเล่าถึงเมื่อครั้งเจ็บไข้ได้ป่วย เพื่อเป็นวิทยาทาน
แม่ชีศันสนีย์ : ในวันแรกที่รู้ว่าตัวเองป่วย เราต้องกลับมากรุณาต่อชีวิตของเราในปัจจุบันขณะอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพราะว่าร่างกายกำลังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แข็งแรง ยิ่งร่างกายไม่แข็งแรง จิตใจยิ่งต้องเข้มแข็ง การกลับไปกรุณาต่อร่างกายอย่างอ่อนโยน มันคือการโอบกอดร่างกายของตัวเอง โอบกอดด้วยความรักที่จะให้อภัยต่อความเจ็บปวด ให้อภัยต่อสิ่งที่เคยประมาทพลาดพลั้ง

การเจ็บป่วยไม่ได้เกิดขึ้นกับเราโดยบังเอิญ
แม่ชีศันสนีย์ : เพราะว่าการเจ็บป่วยไม่ได้เกิดขึ้นกับเราโดยบังเอิญ แต่การเจ็บป่วยเกิดขึ้นเพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย เราอาจจะทำงานมากเกินไป พักน้อยไป กินอยู่โดยไม่ประมาณในการบริโภค เพราะเราอาจจะเอาเป้าหมายของงานเป็นหลัก คนที่เจ็บป่วยเพราะทำงานเยอะก็จะต้องรู้จักให้อภัยตัวเอง แล้วเริ่มต้นทำงานอย่างมีวินัยที่จะประคองกายที่กำลังอ่อนล้า แต่ใจยังเข้มแข็ง ยังคงทำงานอยู่ แต่เป็นการทำงานที่จะต้องมีปัญญามากขึ้น ว่าในขณะที่เรากำลังจะเดินทางไปบนหนทางแห่งการเยียวยาตัวเอง ยังมีงานอะไรที่เราลดลงได้ หาคนอื่นทำแทนได้ หรือสามารถที่จะมีทีมเวิร์กที่แข็งแรงขึ้นได้ โดยที่เรายังมีเป้าหมายของงานอยู่ แต่ลดเวลาในการทำงานของเราให้น้อยลง

ไม่เคยเปลี่ยนเป้าหมายในการทำงานถึงแม้ว่าจะป่วย
แม่ชีศันสนีย์ : เราจึงต้องมีปัญญามากในการวางระบบ วิธีการ และการสร้างทีม ที่จะยังทำให้งานเข้าถึงเป้า แต่การพักของเรามากขึ้นด้วย คือเราทำอย่างนี้ แต่ไม่เคยเปลี่ยนเป้าหมายในการทำงานถึงแม้ว่าจะป่วย คือเราไม่กลัว แต่ก็ไม่ได้กล้าบ้าบิ่นว่า อุ้ย ชั้นไม่เป็นอะไรหรอก-ไม่ แต่ยอมรับว่าชั้นเป็น แต่สิ่งที่เป็นนั้นจะไม่เป็นทุกข์ แล้วก็ใช้ช่วงเวลาของการฟื้นฟูร่างกายอย่างคนที่ให้อภัยตัวเอง มีปัญญาในการทำงานมากขึ้น เมื่อเรากรุณาตัวเองและมีปัญญาในการใช้เวลาช่วงชีวิตที่ยากลำบากนั้นอย่างเป็นกุศลได้ กุศลนั้นก็ส่งผล

การไม่กลัว เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยทุกคนจะต้องฝึก
แม่ชีศันสนีย์ : เราว่าการไม่กลัว เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยทุกคนจะต้องฝึก เช่น มันเจ็บใช่มั้ย เราก็เจ็บนะ แต่ว่าในความเจ็บนั้นมันมีวิธีการปฏิบัติต่อความเจ็บนั้น ซึ่งเราก็ฝึกอยู่แล้วในอานาปานสติ คือ หายใจเข้า ก็รู้ว่าลมหายใจเข้าที่อาบรดก้อนเนื้อที่กำลังกระจายตัวมันเป็นกุศลได้ ก้อนเนื้อที่กำลังกระจายขึ้นมามันก็ค่อยๆ ส่งผลในการกระจายน้อยลง พอมันมีการเยียวยาอย่างเป็นกุศล กอปรกับการดำเนินชีวิตในสามเรื่องที่เราเริ่มต้นใหม่ คือ
- การพิจารณาอาหารที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น
- การเคี้ยวอาหารละเอียดขึ้น
- การภาวนา
ซึ่งเราก็จะเห็นว่า มะเร็งกระเพาะที่เราเป็น ได้รับการดูแลอย่างดีมากขึ้น ไม่ได้ให้เขาทำงานหนักอย่างที่เคยเป็น มันก็ค่อยๆ ทุเลา เพราะฉะนั้นเมื่อเราพบว่าการเคี้ยวอาหารในปากของเราผ่านความตั้งใจอย่างมีสติที่จะทำหน้าที่ให้มันไปเป็นภาระของกระเพาะน้อยที่สุด เราก็ภาวนามากขึ้นกับการเคี้ยวอาหาร ชีวิตเราก็ช้าลง ชัดขึ้น แข็งแรงขึ้น แล้วเราก็มีองค์ความรู้ คือพอเรามีองค์ความรู้เรื่องการเป็นมะเร็ง เราก็ต้องสืบค้นว่า การที่จะต้องมีชีวิตอยู่กับมะเร็งโดยที่ไม่ต้องกลัวว่ามันจะลามปามไปไหน มันต้องมีข้อมูลอะไรบ้างที่จะทำให้ตัวเราปลอดภัยที่สุด ก็พบข้อมูลหนึ่ง ว่ามันมียาชนิดหนึ่งที่จะโฟกัสลงไป

เราเป็น 6 ในหนึ่งล้านคนที่ใช้ยานี้แล้วได้ผลดี
มนทิรา : เป็นการรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy)
แม่ชีศันสนีย์ : ใช่ เป็นการทดลองการใช้ยาเพื่อยับยั้งการกระจายของเซลล์มะเร็งที่กระเพาะอาหาร ซึ่งมันก็ได้ผลดี ซึ่งเราเป็น 6 ในหนึ่งล้านคนที่ใช้ยานี้แล้วได้ผลดี แล้วไม่แพ้ด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นกรรมดีของเรา เราคิดนะ-ว่าเป็นเพราะกรรมดีจากการที่เราไม่ปฏิเสธการช่วยเหลือคน
บางส่วนจาก หนังสือ The Book of Truth
บทสนทนาว่าด้วย ความรัก ความจากพราก และความตาย
เรื่อง : แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
สนทนา : มนทิรา จูฑะพุทธิ