ก่อนที่เดือนแห่งความรักจะเดินทางมาทักทาย
เราขอชวนคุณมาฝึกวิทยายุทธ ‘รักให้เป็น’ ในแบบฉบับ WOW
เคล็ดลับนี้ ไม่จำเป็นต้อง ‘อินเลิฟ’ ก็ทำตามได้
ขอแค่รู้ใจตัวเองเท่านั้นก็พอ

“เริ่มจากรักตัวเองก่อน
ไม่มีอะไรมีค่าเท่ากับชีวิต”
ถ้าจะพูดเรื่องความรักก็ต้องเริ่มต้นจากรักตัวเองให้เป็น
ไม่มีอะไรมีค่าเท่ากับชีวิต
เมื่อคุณรู้ว่าชีวิตเป็นสิ่งมีค่าที่สุด คุณก็ต้องรักสิ่งที่มีค่าที่สุด
จะใช้ชีวิตอย่างไร อย่างรักตัวเอง และอย่างไม่เบียดเบียน
ถ้าเราเริ่มต้นได้จากการรักตัวเอง อย่างเคารพสิ่งที่มีค่าที่สุด
เราก็จะไม่ใช้ชีวิตชุ่ยๆ
ไม่ใช้ชีวิตที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น

“พูดจาดีๆ กับตัวเองบ้าง”
รักไม่ได้ทำให้เธอทุกข์ แต่ถ้าเธอรักไม่เป็น แล้วเธอไม่ซื่อสัตย์ เธอสำส่อน
เธอมีชีวิตที่ละโมบในราคะ เธอต้องมีมากๆ เธอคิดว่าการทำให้คนอื่นรักเธอมากๆ
แสดงว่าเราเก่ง ขอโทษนะ นั่นคือความฉิบหายของคนนั้นเลย
มันเหนื่อย
ได้ความรักมาแล้วยังต้องรักษาความรักอีก ต้องแคร์คนไปทั่ว เหนื่อยมั้ยล่ะ
จะรักจริงต้องเริ่มจากรักตัวเองก่อน
พูดจาดีๆ กับตัวเองบ้าง
เห็นมั้ยว่า
หนึ่ง-ให้
สอง-พูดจากันดีดี
สาม-ชวนกันทำสิ่งดีดี
สี่-มีความเสมอต้นเสมอปลาย
สังคหวัตถุ 4 จะทำให้เราเป็นที่รักแน่นอน

“(ถ้า) คุณให้คนอื่นไม่ได้เลย
คุณเป็นที่รักไม่ได้”
คำสอนในพุทธศาสนาสอนว่าเราบรรลุธรรมได้ในระดับปัจเจก
ที่เราต้องลงทุนกับการ (ถ้า) คุณให้คนอื่นไม่ได้เลย
ถ้าเราเริ่มต้นรักตัวเองเป็นในระดับปัจเจกที่มีสำนึกต่อการได้เกิดมา
แล้วเป็นการเกิดที่สำคัญคือไม่ควรเกิดอีกแห่งทุกข์
มนุษย์ก็จะรักตัวเองในระดับปัจเจก ที่จะทำให้ความรักอย่างนี้ทำให้เรารู้จักเลือก
ว่าอะไรควร-ไม่ควร มีความยับยั้งชั่งใจ ว่าอะไรต้องช้า อะไรต้องรอ อะไรต้องคอย
คนกลุ่มนี้ก็ยังมีอยู่ถึงแม้ว่าเปอร์เซ็นต์จะน้อย
แต่ผลของความรักในระดับปัจเจกก็จะมีผลในระดับมหภาค ในจำนวนปริมาณที่ถึงจะเหลืออยู่น้อย
แต่ก็เป็นการเหลืออยู่อย่างมีคุณภาพ

“(ถ้า) คุณพูดดีกับคนอื่นไม่ได้เลย คุณเป็นที่รักไม่ได้”
(ถ้า) คุณพูดดีกับคนอื่นไม่ได้เลย
‘รัก’ มีรากมาจาก ‘ราคะ’ ถ้าเรามีความเข้าใจเป็นรากของความรัก
เราก็จะเข้าใจว่าความรักต้องละราคะ ซึ่งเป็นรากที่จะนำไปสู่ความทุกข์
แต่ถ้าเรารักอย่างมีปัญญา เอาปัญญามาเป็นรากของความรัก เราก็จะพ้นทุกข์
เพราะฉะนั้นต่างกันตรงเป้าของความรักเป็นอย่างไร

“ถ้าคุณเปลี่ยนแปลงตัวเองได้
ไม่เพียงแต่คุณจะเข้าใจคนที่คุณรัก แต่คุณจะเข้าใจคนทั้งโลก”
ถ้าไม่มีปัญญาคุณจะไม่เข้าใจคนที่คุณรักหรอก
คุณจะเปลี่ยนคนที่คุณรัก หรือคุณจะเปลี่ยนตัวเอง
ถ้าคุณเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ไม่เพียงแต่คุณจะเข้าใจคนที่คุณรัก
แต่คุณจะเข้าใจคนทั้งโลก แล้วเวลาคุณเข้าใจคนที่คุณรัก
เขาก็จะไม่มีอิทธิพลที่จะทำให้คุณทุกข์หรอก
เพราะอะไร
เพราะปัญญาเป็นรากของการคิดในทุกเรื่องในชีวิตของคุณ

“ถ้าเมื่อใดความรักไม่ต้องเป็นอย่างใจฉัน”
ความรักนำไปสู่ความเจ็บปวดได้ถ้าการบริหารความรักนั้นมันยังต้องเป็นไปอย่างใจฉัน
สำหรับคนที่เปราะบางยังต้องเป็นดั่งใจฉัน
เพราะฉะนั้นความเจ็บปวดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการบริหารความรักของคุณยังต้องเป็นดั่งใจฉัน
เมื่อใดที่ความรักยังต้องเป็นอย่างใจฉัน มันไม่นิรันดรหรอก
แต่ถ้าเมื่อใดที่ความรักไม่ต้องเป็นอย่างใจฉัน แต่มันเห็นความสุขที่ได้รัก
แม้สิ่งนั้นไม่น่ารัก ยังมีความสุขที่ได้รัก
ของคนที่บริหารใจตัวเองได้ อย่างนี้ความรักนิรันดร

“ความรักชั่วนิรันดร
มีอยู่จริงในใจของคนที่รักเป็น”
มนทิรา :ปรัชญาความรักของรพินทรนาถ ฐากูร คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ กล่าวว่า ขอให้ผู้ตายจงมีชื่อเสียงชั่วฟ้าดินสลาย ขอให้ผู้ยังอยู่จงมีรักนิรันดร ความรักชั่วนิรันดรเป็นเรื่องเพ้อฝันหรือไม่
แม่ชีศันสนีย์ : ไม่ (ตอบทันที) ความรักชั่วนิรันดรมีอยู่จริงในใจของคนที่รักเป็น คนที่รักเป็นความรักชั่วนิรันดรมีอยู่จริง คนที่ไม่มีจริงเพราะรักไม่เป็นไง

“ความรักยังเติบโตอยู่ในใจ
ของคนที่รักเป็นเสมอ”
ความรักยังเติบโตอยู่ในใจของคนที่รักเป็นเสมอ ไม่ใช่นิรันดรอยู่ในจักรวาลข้างนอก แต่อยู่ในโลกภายใน แม้เรานึกถึงทีไรเราก็ยังยิ้ม มีความสุขได้ รักนั้นก็นิรันดรอยู่ในความสุขของเรา

“สติต้องมาก่อนความรัก”
เวลาที่คุณมีความรัก คุณควรจะมีสติเพื่อบริหารความรัก
แล้วพัฒนาความรักให้ต่อยอด แต่ถ้าคุณไม่มีสติ
คุณจะมีความหลงในความรัก หรือสิ่งที่คุณรัก
เพราะฉะนั้นสติจึงเป็นหัว ความรักเป็นผล มีสติก็รักเป็น ขาดสติก็หลง

“เราไม่ได้ทุกข์เพราะความรัก
แต่เราทุกข์เพราะหลับตากับความรัก”
ถ้าเราไม่รักแบบตาบอดเรารู้ แต่ถ้าเรารักใครแล้วตาบอด
คือมืดบอด ไม่มีทางรู้ เพราะเราก็หลับตาอยู่ในความรักแล้ว
ต้องเป็นความรักที่ไม่มืดบอด
เราไม่ได้ทุกข์เพราะความรัก แต่เราทุกข์เพราะหลับตากับความรัก

“เราต้องการให้ตัวเรามีความสุข หรือปรารถนาให้คนที่เรารักมีความสุข”
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) บรรยายธรรมเกี่ยวกับความรักว่า
ความรักคือความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นความรักขั้นที่สอง ซึ่งพัฒนาแล้ว
ดังนั้น เวลามีความรัก ให้ถามตัวเองว่า เราต้องการให้ตัวเรามีความสุข
หรือปรารถนาให้คนที่เรารักมีความสุข ถ้าความรักที่แท้ต้องอยากให้เขามีความสุข
เราจะพัฒนาความรักจากขั้นที่หนึ่งคือ ‘ราคะ’ สู่ขั้นที่สองคือ ‘เมตตา’ ได้อย่างไร

“เข้าใจตนเอง = เข้าใจคนอื่น
รักตนเอง = รักคนอื่น
เพราะตัวเราก็คือสิ่งที่เรารัก”
มนทิรา : ในคำสอนของพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับความรัก บอกว่า ไม่เพียงแต่เราจะต้องเข้าใจคนที่เรารัก แต่เราต้องเข้าใจตัวเองด้วย เพราะการเข้าใจตนเองคือพื้นฐานของการเข้าใจคนอื่น สรุปคือ เข้าใจตนเอง = เข้าใจคนอื่น, รักตนเอง = รักคนอื่น เพราะตัวเราก็คือสิ่งที่เรารัก
แม่ชีศันสนีย์ : ถ้าบอกว่าทุกสรรพชีวิตมีลักษณะเดียวกันคือ เกลียดทุกข์ รักสุข ดังนั้น ถ้าคุณยังทุกข์อยู่ คุณจะรักคนอื่นอย่างไม่ทุกข์ มันจะเป็นไปได้มั้ย
มนทิรา : ถ้าเราไม่รักตัวเอง เราก็ไม่สามารถรักคนอื่น
แม่ชีศันสนีย์ : ถ้าเรารักตัวเองอย่างเห็นแก่ตัว เราจะรักคนอื่นอย่างเห็นแก่ตัว

“ความรักไม่ได้น่ากลัว แต่การครอบครอง ยึดถือ น่ากลัว”
เวลามันมีความอยากมันก็เดินเข้าไปหา แล้วมันก็ออกมา มันมีความหน่ายเร็วด้วย
มันไม่มีการเคารพ ความรักจึงนำมาซึ่งความทุกข์ มันเกิดความนัวเนีย
มันอยากได้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ มันแย่งชิง มันไขว่คว้า
มันจะเอามาโดยไม่มีความรับผิดชอบ ว่ามันถูกศีลธรรมหรือมันผิดศีลธรรม
มันจะมีเหตุผลที่จะเข้าข้างตัวเอง อันนี้น่ากลัว
ความรักไม่ได้น่ากลัว แต่การครอบครอง ยึดถือ น่ากลัว

“เอา ‘ฉัน’ และ ‘ของฉัน’
ออกไปเถอะกับความรัก”
เราเคยแผ่เมตตาอย่างไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณมั้ย
ความรักที่เรียกว่าอัปปมัญญา คือการให้อย่างไม่เลือกปฏิบัติ-เคยทำมั้ย เคย เราเคยทำ ทำไมเราให้ได้ล่ะ แต่กับคนที่เรียกว่า ‘ของฉัน’ เราให้ไม่ได้
อะไรมันปิดบังใจของเรา
เพราะความเป็น ‘ฉัน’ เป็น ‘ของฉัน’ ที่มันเป็นม่านบังทำให้เราทุกข์
เอา ‘ฉัน’ และ ‘ของฉัน’ ออกไปเถอะกับความรัก
ถ้าเราเข้าใจในสิ่งที่คุณแม่พูด เราจะรู้ว่าความรักแท้มีอยู่จริง

เนื้อหาจาก E-Book หนังสือชุด The Book of Truth
บทสนทนาว่าด้วย ความรัก ความจากพราก ความตาย
เรื่อง : แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
สนทนา : มนทิรา จูฑะพุทธิ
คลิกสั่งซื้อ E-Book >> http://bit.ly/2RctjQE
รายได้จากการจำหน่ายหนังสือชุดนี้ รวมทั้งค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด มอบให้โครงการ ‘ธรรมาศรม’ ในเสถียรธรรมสถาน อาศรมปฏิบัติธรรมสำหรับคนทุกเพศวัย ที่มีจุดหมาย ‘พ้นทุกข์’