ปัจจุบัน ‘เคมีตรงกัน’ แทบจะเป็นคำพูดตามหลังความสัมพันธ์และความรู้สึกที่เรียกว่า ‘รัก’
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ‘ใครมีเคมีตรงกับเรา’
ช้าก่อน! บทสนทนาต่อไปนี้ ไม่ได้จะพาคุณไปตามหาเคมีแห่งความรักแต่อย่างใด
ทว่าจะพามาวางแผนความรักอย่างละเมียดละไม เพียงฝึกบริหาร ‘หัวใจกับสมอง’ แบบนักรักมือโปรฯ
มนทิรา : ในหนังสือ “Theory of Love เหตุ•ผล•คน•รัก” ของคุณหมอผู้เขียนเรื่องความรักด้วยมิติของวิทยาศาสตร์ มองว่าความรักไม่ใช่แค่เรื่องของจิตใจ แต่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ด้วย เช่น เวลาที่เรารักใครสักคน จะรู้สึกมีความสุข เพราะสมองหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) หรือสารแห่งความสุข ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์รัก
แม่ชีศันสนีย์ : ความรักไม่ได้เป็นแค่เพียงมิติทางอารมณ์และความรู้สึกเท่านั้น แต่ความรักมีปรากฏการณ์ของการสร้างฮอร์โมนที่เกิดขึ้นตามวัยด้วย เช่น ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เวลามีฮอร์โมนที่ปรับเปลี่ยนในช่วงมีระดู ก็จะมีความต้องการทางเพศด้วย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของการสร้างองค์ประกอบของกายที่มีความพร้อมในการที่จะนำไปสู่ความนึกคิดในเรื่องที่มันเกี่ยวกับความรักได้ง่ายกว่าในเวลาที่ไม่มีระดู
มนทิรา : วิทยาศาสตร์กายภาพบอกว่า คนเรามีสมอง มีหัวใจ มีแขน มีขา ถามว่า…ความรักอยู่ตรงไหน หัวใจหรือสมอง
แม่ชีศันสนีย์ : ถ้าถามว่า ความรักเริ่มจากกายก่อนหรือจิตก่อน จริงๆ แล้วมันแยกไม่ได้ มันสัมพันธ์กัน เช่น ตามองเห็น มันรู้สึกที่ใจ แล้วเวลาที่ร่างกายในขณะที่ตามองเห็นนั้น ถ้าอยู่ในช่วงของการเจริญพันธุ์ที่มีระดู มันก็จะรู้สึกมีความต้องการทางเพศสูง มันเป็นเรื่องของฮอร์โมนในจังหวะนั้นด้วย คือมันเป็นการทำงานที่เชื่อมโยงกัน เกิดขึ้นอย่างมีองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างกาย-จิต เพราะเวลาที่รู้สึกมันรู้สึกที่ใจ แต่เวลาที่มันวางแผน ความรักมีการวางแผนด้วยนะ การสมสู่มีการวางแผน มีการสร้างสรรค์นะ มันมีรสนิยมที่เกิดจากการสร้างสรรค์ด้วย ไม่ใช่ทื่อๆ มันละเมียดละไม ละมุนละม่อม มันเป็นศิลปะ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งสมองและจิตใจ
มนทิรา : ท่านมีความเห็นอย่างไรกับคำพูดที่ว่า “ความรักคือความลงตัวระหว่างเคมีและฟิสิกส์” กระทั่งหนุ่มสาวก็มีคำพูดว่า ‘เคมีตรงกัน’
แม่ชีศันสนีย์ : ความรักไม่ใช่ความลงตัวของเคมีกับฟิสิกส์ เซ็กส์และราคะเป็นความลงตัวของเคมีกับฟิสิกส์
ถ้าเป็นความรัก ต้องเป็นเมตตากับปัญญาเคียงกัน เมตตาที่จะเห็นคนที่เรารักมีความสุข และมีปัญญาในการจัดการ แล้วต้องกรุณาคือให้อภัยอย่างลึกซึ้งด้วย
ถ้าเรามองว่าความรักเป็นสัญชาตญาณ เหมือนสัตว์เวลาที่ติดสัด มันจะมีกลิ่น มีฮอร์โมน มีหายใจหืดหอบ มนุษย์ก็เหมือนกัน เวลาที่มีความต้องการทางเพศ มันจะมีความตื่นเต้น มันจะเหน็ดเหนื่อย มันจะกระเสือกกระสน ลมหายใจก็เปลี่ยน แต่อะไรควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้?
‘จิต’
มนุษย์ถูกฝึกมาให้เราเรียนรู้ที่จะมีจิตที่เป็นนาย ที่ฝึกไว้ดีแล้ว ควบคุมกาย แล้วมีสติเป็นดิสเบรก ที่จะบอกเราว่า อันนี้ไม่ได้นะ มันผิดศีลธรรมนะ เช่น สมมติคุณไปรักคนที่มีครอบครัวแล้ว ถึงแม้ว่าคุณจะมีความต้องการ แต่ถ้าความต้องการนั้นนำมาซึ่งทุกข์โทษ คุณก็ต้องมีดิสเบรก คือมีสติ
บางส่วนจาก หนังสือ The Book of Truth
บทสนทนาว่าด้วย ความรัก ความจากพราก และความตาย
เรื่อง : แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
สนทนา : มนทิรา จูฑะพุทธิ