ถ้าเธอขาดอาหาร เธอจะตายภายใน 30 วัน
ถ้าเธอขาดน้ำ เธอจะตายภายใน 7 วัน
ถ้าเธอขาดอากาศ เธอจะตายภายใน 4 นาที
ถ้าเธอขาดรัก เธอจะตายอย่างช้า-ช้า
แต่ถ้าขาดธรรมชาติ เราทุกคนจะตายในที่สุด

เรื่อง : มนทิรา จูฑะพุทธิ
ภาพ : PENNY
ป่าคามิโคจิกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี แม้สีของใบไม้จะยังไม่ผลัดเปลี่ยนทั่วผืนป่า แต่ต้นเมเปิ้ลก็เริ่มอวดใบแดงแจ๊ด ต้นแปะก๊วยสะบัดใบเหลืองทองอร่าม ป่าสนหนาทึบเขียวเข้มยืนต้นสูงชะลูด ฟ้าเป็นฟ้าโอบกอดเป็นฉากหลัง ลำธาร น้ำตก นกร้อง
จริงดังที่มีคนกล่าวไว้ไม่มีผิด…
ถ้าเธอเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า

อาบป่าต้องแก้ผ้ามั้ย?
ถามบ้าๆ!
อาบป่า ไม่ใช่อาบน้ำ จะถอดผ้าไปทำไมกัน
แต่การอาบป่าไม่เหมือนกับการเดินป่า
เวลาอาบป่าคุณต้องเปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5
ผ่านการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การชิมรส และการสัมผัส
เพื่อให้คุณเข้าถึงธรรมชาติ
เพื่อให้ธรรมชาติเข้าถึงคุณ

ญี่ปุ่นมีพื้นที่ป่าให้อาบมากกว่า 60 ป่าทั่วประเทศ ตั้งแต่เกาะฮอกไกโดทางตอนเหนือจนถึงเกาะโอกินาวาทางตอนใต้ ฉันปักหมุดที่ป่าคามิโคจิ ซึ่งอยู่ภาคกลาง ณ เมืองมัตสึโมโตะ จังหวัดนากาโนะ ด้วย 3 เหตุผลง่ายๆ
หนึ่ง สวย
สอง สวย
สาม สวย
สวยจนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน ‘จุดชมวิวพิเศษที่มีความงดงาม’ ของญี่ปุ่น และยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน ‘อนุสาวรีย์ทางธรรมชาติชนิดพิเศษ” อันทรงคุณค่าของประเทศญี่ปุ่นและของโลก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เพียง 2 ที่เท่านั้น คือที่นี่ และที่หุบเขาคุโรเบะ
จะไม่สวยได้อย่างไรเล่า
คามิโคจิตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติชูบุซังกะกุ (Chubu Sangaku National Park) อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ป่าไม้ พันธุ์พืช สัตว์ป่าหายาก และภูมิอากาศที่สดชื่นเย็นสบายตลอดทั้งปี แต่ที่ทำให้คามิโคจิเป็น ‘สวรรค์บนดิน’ ซึ่งมนุษย์อย่างเราๆ สามารถเดินไปถึงสวรรค์ได้ เพราะลักษณะพื้นที่ที่เป็นที่ราบกลางหุบเขา โอบล้อมด้วยเขาสูงรอบด้าน ซึ่งหนึ่งในภูเขาเหล่านั้นคือเทือกเขาแอลป์ญี่ปุ่น (Japan Alps) พื้นที่ราบกลางป่าและขุนเขายังมีแม่น้ำอาซุสะไหลผ่ากลางเป็นทางยาวราว 15 กิโลเมตร สายน้ำเขียวมรกตใสจนมองเห็นกรวดเม็ดน้อยใหญ่และสาหร่ายใต้ท้องน้ำ
สวยเสียจนดึงดูดให้ผู้คนนับล้านต่างมาชมความงดงามของสถานที่นี้ในแต่ละปีที่ธรรมชาติเปิดโอกาส
คนญี่ปุ่นเคารพธรรมชาติ
สังเกตได้ง่ายๆ จากพื้นที่ป่า ตัวเลขบอกว่าญี่ปุ่นมีพื้นที่ดินเพียงแค่ 364,485 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 71% หรือราวสองในสามของประเทศไทย แต่กลับมีพื้นที่ป่ามากถึง 69% ในขณะที่ไทยมีพื้นที่ป่าเหลือเพียง 37% เท่านั้น (ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ ประมาณการว่าตัวเลขจริง ณ ปัจจุบันน่าจะน้อยกว่านี้ เนื่องจากป่าในไทยเป็นเขาหัวโล้นไปหมดแล้ว)
จริงอยู่ว่าสาเหตุที่ญี่ปุ่นมีพื้นที่ป่ามากเป็นพิเศษก็เพราะภูมิประเทศเป็นเขาสูง ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจึงอาศัยอยู่ตามที่ราบใกล้ชายฝั่งทะเลมากกว่า กระนั้นก็อย่าลืมว่า มาตรการเข้มงวดในการควบคุมและป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าของญี่ปุ่นก็ทำให้เขาอนุรักษ์ป่าไม้ไว้ได้เป็นผลสำเร็จ
คนญี่ปุ่นเคารพกฏระเบียบ
คนญี่ปุ่นเคารพธรรมชาติ
สังเกตได้ง่ายๆ จากประเพณีญี่ปุ่น ชาตินี้มีวันหยุดหลายวันเพื่อเฉลิมฉลองธรรมชาติ อาทิ วันธรรมชาติสีเขียว (มิโดริ โนะ ฮิ), วันแห่งดวงดาว (ทานาบาตะ), วันมหาสมุทร (อูมิ โนะ ฮิ)
เป็นเทศกาลที่ยินเพียงแค่ชื่อก็น่ารักเหลือเกินแล้ว

ศาสตร์ของการอาบป่า แจแปนโอนลี่!
ขึ้นชื่อว่าญี่ปุ่น ย่อมต้องไม่ธรรมดาแน่นอน
นวตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งของแปลกใหม่ บางสิ่ง บางเรื่อง บางอย่าง มีให้เห็นก็แต่เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น
การอาบป่าก็เช่นกัน
ญี่ปุ่นคือต้นตำรับผู้คิดค้นศาสตร์นี้
ในหนังสือ The Secret Power of Shinrin-Yoko เขียนโดย Dr.Qing Li กล่าวไว้ว่า
การอาบป่าไม่ใช่การออกกำลังกาย ไม่ใช่การปีนเขา แล้วก็ไม่ใช่การจ๊อกกิ้ง
แต่คือการเชื่อมโยงตัวเองให้เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
ชิริน (Shnirin) หมายถึง ป่า Yoko หมายถึง อาบ Shinrin-Yoko จึงหมายถึง การอาบป่า (Forest Bathing) ในแง่ของการเปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 เพื่อรับรู้ความรู้สึกที่ผ่านเข้ามากระทบในขณะเดินป่า
ตา-มองเห็น เพราะหลายครั้ง…เรามอง แต่ไม่เห็น
อาบป่าควรมองเห็นความงามตามธรรมชาติ เขียวของใบไม้ แดงของดอกไม้ ฟ้าของท้องฟ้า…
หู-ได้ยิน เพราะบ่อยครั้ง…เราฟัง แต่ไม่ได้ยิน
อาบป่าควรได้ยินเสียงน้ำตก เสียงนกร้อง เสียงลมพัดผ่านใบไม้ไหว…
จมูก-ได้กลิ่น
อาบป่าควรได้กลิ่นดิน กลิ่นหญ้า กลิ่นป่า…
ลิ้น-รู้รส
อาบป่าควรลองชิมอาหารจากป่า พืช ผัก ผลไม้…
กาย-สัมผัส
อาบป่าควรลองโอบกอดธรรมชาติ ให้ธรรมชาติโอบกอดคุณ

ทำไมเวลาเดินป่าจึงรู้สึกสดชื่น?
ทำไมเวลาเห็นสีเขียวของต้นไม้จึงรู้สึกสงบ?
ทำไมเวลาได้กลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยจากต้นไม้บางชนิดจึงรู้สึกปลอดโปร่ง?
ทำไม ทำไม ทำไม?
จากความรู้สึก…สู่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์
ดร.ควิง ลี และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิบะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงประโยชน์ของการอาบป่าว่ามีผลดีต่อสุขภาพอย่างไร
ทำไมเราต้องอาบป่า?
ก็เพราะในป่ามีประจุไฟฟ้าลบ ในขณะที่การทำงานในห้องแอร์นั้นมีแต่ประจุไฟฟ้าบวก ซึ่งจะส่งผลให้เรารู้สึกไม่สดชื่น ไม่กระฉับกระเฉง และอ่อนล้า ตามกระบวนการการสังเคราะห์แสง พืชจะปล่อยออกซิเจนที่มีประจุไฟฟ้าลบอ่อนๆ ออกมา เมื่อเราอาบป่า ก็เท่ากับเราได้สูดออกซิเจนเข้าไปในปอด ประจุไฟฟ้าขั้วลบจะเข้าไปจับกับประจุไฟฟ้าขั้วบวก ทำให้ร่างกายมีสภาวะเป็นกลาง ฮอร์โมนซีโรโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสงบสุขก็จะหลั่งออกมา นี่คือคำตอบทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายว่าทำไมเราเดินป่าแล้วจึงรู้สึกสดชื่น
ก็เพราะในป่ามีสารระเหยจากพืช สรรพคุณน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากพืชมีประโยชน์หลายสถาน ยกตัวอย่างต้นสนฮิโนกิ กลิ่นไฟตอนไซด์ของต้นไม้ชนิดนี้จะช่วยลดความเครียด และทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น
ก็เพราะในป่ามีจุลชีพดีๆ ที่เป็นมิตรต่อร่างกาย ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ดร.ควิง ลี ยังพบอีกว่า จำนวนเนเชอรัล คิลเลอร์ เซลล์ (NK Cell) ซึ่งมีหน้าที่กำจัดเซลล์มะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหากอาบป่าเป็นประจำ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่คุณหมอญี่ปุ่นงดสั่งยาคนไข้ แล้วให้ไปอาบป่าแทน
อยากออกไปอาบป่ากันรึยังเอ่ย!