โอม ตาเรตู ตาเรตู สวาหะ
น้ำเสียงเย็นสบาย นิ่งสงบ อันไพเราะ ชวนให้เราหยุดชะงัก
ขณะรอเวลาเคลื่อนขบวนกายสังขารท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา
หันซ้ายแลขวา สายตาหยุดที่สุภาพสตรีท่านหนึ่ง เธอยืนสงบนิ่ง พลางเปล่งเสียงร้องผ่านเครื่องขยายเสียงก่อนที่พิธีเคลื่อนกายสังขารเริ่มต้นขึ้น
เธอคือ “แอน-มิตรชัย” นักร้อง นักแสดงชาวไทย ที่มีผลงานร่วมกับค่ายหนังบอลลีวูด
ไม่รอช้า วันต่อมาเราติดต่อพูดคุยกับเธอทันที
และนี่คือบทสนาที่อบอวบด้วยความรัก และความเคารพที่มีต่อแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต หรือ “คุณแม่” อีกคนหนึ่งของเธอ
จุดเริ่มต้น ‘บันเทิงบรรลุธรรม’
แอน-มิตรชัย พาเราย้อนไปเมื่อปี 2016 ช่วงที่เธอกลับมาจากพุทธคยาและเริ่มทำ ‘ลิเก เดอะมิวสิคัล’ ด้วยการเล่าเรื่องราวของพระอรหันต์หญิง นาม ‘อมราปาลี’ ซึ่งคนแรกที่นึกถึงทันทีเลยคือ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
“ก่อนหน้านี้ได้รู้จักคุณแม่ผ่านสื่อต่างๆ บ้าง แต่พอจะทำลิเกธรรมะประวัติ คนแรกที่นึกถึงต้องเป็นคุณแม่ เพราะท่านมีความชัดเจนมากๆ ในเรื่องของการเป็นพระอารยบุคคล เป็นผู้หญิงที่บรรลุธรรม เป็นผู้หญิงที่สอนธรรม”
หลังจากเข้าไปแนะนำตัว และแนะนำโปรเจกต์ที่เธอตั้งใจจะทำขึ้น แอนได้ติดต่อกับแม่ชีศันสนีย์ทุกวัน เพื่อเรียนรู้หลักคำสอนเพิ่มเติม
เธอเสริมว่าการทำลิเกเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง่าย
“ครูบาอาจารย์จะมีเรื่องเล่าต่อกันว่า อายุไม่ถึง 40 ปี ทำไม่ได้นะ ถ้าเป็นลิเกจะเรียกว่าโรงแตก เพราะเราเล่นเรื่องพุทธประวัติ บุญบารมีต้องมี หมายถึงบทละครนี้เป็นเรื่องสูง”
แต่เมื่อได้เรียนปรึกษาแม่ชีศันสนีย์และพระผู้ใหญ่หลายท่าน ท้ายที่สุดเธอตัดสินใจทำอย่างไม่รีรอ และสำเร็จด้วยดีในช่วงอายุ 35 ปี
“คุณแม่บอกว่าชอบมากๆ โดยเฉพาะธีมของอมราปาลีที่พูดว่า ‘จากรักสู่นิรันดร์’ เพราะมีหลายอย่างที่เหมือนกับชีวิตคุณแม่ เราก็คิดว่าเป็นเรื่องดีที่ได้เผยแผ่ธรรมะผ่านการแสดงจึงนิยามคำนี้ว่า…บันเทิงบรรลุธรรม”
แด่แม่…ผู้กรุณาและอบอุ่น
แรกพบกับแม่ชีศันสนีย์ แอนสัมผัสได้ถึงความกรุณา ความอบอุ่น และความเป็นแม่
“ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ให้เกียรติและคุยได้กับทุกคน อย่างเวลาที่แอนเข้าไปหา ท่านก็จะมารับด้วยตัวเอง มาคุยงานตั้งแต่กระบวนการแรกของการทำงาน ไม่มีถือตัวเลย คุณแม่เหมือนเป็นคุณแม่อีกคนของเราจริงๆ อะไรที่ขาดได้เติม อะไรที่เกินคุณแม่จะตัดให้”
แม่ชีศันสนีย์คือหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังบทละครเรื่องอมราปาลี ท่านช่วยแนะนำบทละครในด้านธรรมะให้สมบูรณ์แบบ รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้แอนผ่านงานยากครั้งนี้ไปได้
“คุณแม่พูดเสมอว่า ได้บุญมหาศาลนะลูก หนูทำงานนี้ออกมาเป็นบุญเหลือเกินนะลูก และอย่าประมาทคนดูนะ คนที่เข้ามาดูการแสดงหากมีเพียงหนึ่งคนที่เขาก้าวออกไปแล้วบรรลุธรรมสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถือว่านั่นเป็นบันเทิงบรรลุธรรมที่เกิดประโยชน์สูงสุดในสายงานการแสดง”
ถวายงานครั้ง (ไม่) สุดท้าย
เมื่อบทสนทนาเดินทางมาถึงปัจจุบัน เราไม่รอช้าที่จะถามถึงเบื้องหลังเสียงบทสวดอันไพเราะที่ได้ฟังในวันนั้น
แอนเล่าว่าเธอรู้จักกับบทสวดมนต์ทางทิเบตอยู่แล้ว แต่เมื่อจบงานอมราปาลี แม่ชีศันสนีย์ได้มอบพระอารยตาราฯ องค์ใหญ่ให้แก่เธอ นั่นจึงทำให้เริ่มสวดมนต์พระอารยตาราฯบ่อยขึ้น
“แอนเคยส่งเสียงสวดมนต์บทพาหุงให้คุณแม่ฟัง ช่วงที่ท่านทำงานอยู่ที่หุบเขาโพธิสัตว์ ท่านชอบมาก อยากให้เราร้องเพลงถวาย”
ไม่มีสิ่งใดเป็นเรื่องบังเอิญ
เพราะขณะนั้นแอนได้วางแผนร้องเพลงถวายท่านพอดี
เพลงที่หนึ่งคือ เพลงหนี้กรรม ซึ่งถ่าย MV เสร็จเรียบร้อยจากอินเดีย และเพลงที่ 2 คือเพลงพระอารยตารา ซึ่งคือเวอร์ชันที่ขับร้องในวันเคลื่อนกายสังขาร
เพลงหนี้กรรม การทำงานร่วมกันครั้งสุดท้าย
“แอนส่งให้คุณแม่ตรวจงานหลังจากที่ตัดต่อเสร็จแล้วช่วงวันที่ 25 พฤศจิกายน และเป็นเสียงสุดท้ายจากคุณแม่ที่ส่งกลับมา ท่านได้ฟังเพลง ดู MV แล้วบอกว่า ดีมากเลยแอนคุณแม่ชอบมาก ไพเราะและก็งดงามมากเลยนะลูก ขอบใจที่ได้ส่งงานมาให้คุณแม่ฟังนะคะ”
“ตอนตรวจงานคุณแม่ยังบอกให้แก้โลโก้เสถียรธรรมสถาน เพราะสีเพี้ยน เปลี่ยนใหม่นะคะ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นคุณแม่ป่วยหนักแล้ว”
เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม และผู้เขียนก็ยิ้มตามเช่นกัน
เราต่างยิ้มด้วยความอบอุ่นใจ เมื่อนึกถึงภาพการทำงานให้ดูเป็นแบบอย่างของท่าน
การทำงานที่ทุ่มเทด้วยแรงกาย แรงใจ แต่ไม่ละทิ้งความสุข
ท่านทำเช่นนี้เรื่อยมา จวบจนช่วงสุดท้ายของชีวิต
ถวายธรรมะโอสถข้างหมอน
เมื่อทราบข่าวอาการของแม่ชีศันสนีย์จากคนสนิท แอนตัดสินใจส่งเสียงร้องอัดสดใส่โทรศัพท์ เพื่อให้ท่านได้ฟังเพลงก่อนกำหนดการณ์ที่จะปล่อยเพลงจริง
“ก่อนที่คุณแม่จะละสังขารไม่กี่วัน แอนชิงส่งเสียงสวดมนต์เพลงพระอารยตาราในคืนวันนั้นให้เลย เพราะไม่รู้ว่าคุณแม่จะอยู่ถึงวันไหน ปรากฏว่าประมาณตี 1 คุณแม่ก็กดอ่านเพลงที่ส่งไป แอนก็ยังถามคนสนิทไปว่า คุณแม่ตื่นมาฟังเพลงหรือ ซึ่งเขาก็เล่าว่าคุณแม่ได้ตื่นมาฟังเพลง”
คำสั่งลาสุดท้ายที่แม่ชีศันสนีย์ฝากถึงแอน-มิตรชัยคือ
“คุณแม่ฟังแล้วชอบมากๆ ไพเราะเหลือเกิน ขอนำเพลงนี้มาเป็นเพลงหลักในเสถียรธรรมสถานและใช้สวดมนต์ตลอดไป”
ตลอดการรักษาตัวในช่วงสุดท้ายก่อนกลับคืนสู่ธรรมชาติ บทสวดพระอารยตาราที่แอนขับร้อง จึงเป็นธรรมะโอสถที่ขับกล่อมท่านในทุกคืน
แอนทิ้งท้ายว่าเธอไม่เสียดายอะไรแล้ว เพราะอย่างน้อยก็ได้ถวายงานครั้งสุดท้ายแก่ท่าน เพื่อสร้างประโยชน์ให้เสถียรธรรมสถานและพุทธศาสนาต่อไป
สมดั่งเจตนา ‘บันเทิงบรรลุธรรม’