Make a Difference: 10 ผู้หญิงกลิ้งโลก
ในอดีตที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย การเปลี่ยนแปลงทุกเรื่องที่ตอนนี้เรามองว่า ‘ก้าวหน้า’ ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากคนส่วนน้อยที่กล้าเดินสวนกระแส
ในเมื่อการเปลี่ยนแปลงล้วนเกิดจากคนส่วนน้อยก่อน ความหัวรั้นจึงเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ดังที่ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ เคยกล่าวไว้ว่า
“คนมีเหตุมีผลปรับตนเองให้เข้ากับโลก คนหัวรั้นดึงดันที่จะปรับโลกให้เข้ากับตนเอง ดังนั้น ความก้าวหน้าทั้งมวลจึงขึ้นอยู่กับคนหัวรั้น”
ชีวิตและงานของ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ผู้เรียกตัวเองว่า ‘เภสัชกรยิบซี’ สะท้อนคำกล่าวข้อนี้ได้อย่างดีเยี่ยม

เด็กคืออนาคตของชาติ
เธอกล่าวถึงแรงบันดาลใจที่เริ่มวิจัยยาต้านไวรัสเอดส์ว่า
“ปี 2535 เริ่มมีผู้ป่วยเอดส์มากขึ้นเรื่อยๆ ดิฉันรู้สึกว่าผู้หญิงและเด็กที่ไม่เกี่ยวข้องเริ่มต้องมารับผลกระทบไปด้วยเป็นคนที่น่าสงสารมาก เช่น ผู้หญิงบางคนติดเชื้อจากสามีแล้วแพร่ไปสู่ลูก ดิฉันจะมีจุดอ่อนกับเด็ก เห็นเด็กแล้วสงสาร อยากช่วยเหลือพวกเขา เพราะคิดว่าเด็กคืออนาคตของประเทศชาติ นี่คือจุดที่ดิฉันตัดสินใจค้นคว้าและวิจัยผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ขึ้นมา ใช้เวลาค้นคว้าประมาณ 3 ปีตั้งแต่ 2535-2538 ในครั้งแรกที่ดิฉันทำนั้นไม่มีใครมาช่วยเลย แม้กระทั่งนักวิจัย ดิฉันทำเองทุกอย่างประมาณ 6 เดือน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าการทำงานคนเดียวจะทำให้เป็นผลดีกับดิฉันในอนาคตได้มากขนาดนี้”
ความพยายามของเธอทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ผลิตยาชื่อสามัญว่า ‘ยาเอดส์’ ในปี 2538 ได้สำเร็จ แต่กว่าจะถึงจุดนั้นเธอก็เผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ถูกขัดขวางจากทั้งคนในองค์กรเดียวกันและจากบริษัทยาต่างชาติ
เธอกล่าวถึงชีวิตในช่วงนั้นว่า
“ชื่อดิฉันถูกบรรจุอยู่ในแบล็กลิสต์ของบริษัทยาเกือบทุกบริษัท มีคดีต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกับบริษัทยาด้วย ซึ่งคิดว่ามาจากเรื่องของผลประโยชน์ เพราะถ้าดิฉันผลิตยาสำเร็จ ยอดขายบริษัทยาอื่นๆ ต้องตกแน่นอน เนื่องจากราคาต่างกันค่อนข้างมาก แต่ในที่สุดก็ทำสำเร็จ”
ความสำเร็จครั้งนั้นทำให้เธอได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น และเธอก็มุ่งมั่นค้นคว้าวิจัยยาต้านไวรัสเอดส์ที่มีคุณภาพและราคาถูกต่อไป

ต่อมาในปี 2542 ดร.กฤษณา มองว่าการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ในประเทศไทยกำลังไปได้ดีแล้ว อยากไปช่วยผู้ป่วยในทวีปแอฟริกาบ้าง เนื่องจากเป็นถิ่นยากจนที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ถ้าไปถ่ายทอดวิธีการผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ให้กับชาวอัฟริกันก็จะช่วยลดค่าใช้จ่าย และช่วยเหลือคนได้มากขึ้นอีกมาก เมื่อองค์การอนามัยโลกทราบถึงเจตนารมณ์จึงเชิญเธอไปเยือนแอฟริกา
เธอเล่าประสบการณ์ช่วงนั้นไว้ว่า
“เมื่อถึงเวลาที่ดิฉันต้องไปถ่ายทอดเทคโนโลยีจริงๆ ไม่มีใครไปด้วยเลย ดิฉันเริ่มคิดไม่ตกว่าจะเอายังไงดี อยู่เมืองไทยเราทำคนเดียวได้ แต่ต่างประเทศไม่แน่ใจ จนกระทั่งกันยายน 2545 ดิฉันขอลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อไปช่วยเหลือแอฟริกาอย่างเต็มตัว ไม่มีใครเห็นด้วย รัฐมนตรีไม่ยอมเซ็นใบอนุมัติให้ เรียกไปคุย ดิฉันตอบไปว่า ไม่เปลี่ยนใจแล้ว เขาจึงยื่นข้อเสนอ เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นที่ปรึกษาองค์กร แล้วเอายาไปขายทวีปแอฟริกาแทน ดิฉันปฏิเสธทุกข้อเสนอ และไม่เคยเสียใจในการตัดสินใจครั้งนั้น”
เธอลาออกจากงานประจำ ทั้งที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำงานอย่างไรและกับใครในแอฟริกา เพียงเพราะยึดมั่นว่า
“ในโลกนี้ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าคำสัญญา เมื่อเราบอกว่าจะช่วยแล้วก็ต้องช่วย”
หลังจากนั้นไม่นาน เธอได้รับการทาบทามจากเจ้าของบริษัท PHAMAKINA ซึ่งเป็นชาวเยอรมันที่ทราบเรื่องราวของเธอจากหนังสือพิมพ์เยอรมัน บริษัทของเขามีฐานการผลิตในคองโก เป็นผู้ผลิตยาควินิน (ยารักษาโรคมาลาเรีย) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เราควรสอนเขาตกปลา ไม่ใช่เอาปลาไปให้เขา
เรื่องของ ดร.กฤษณา ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจอยากผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ราคาถูก เพื่อช่วยเหลือพนักงานบริษัทที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ และชาวบ้านยากจนให้เข้าถึงยามากขึ้น”
เธออกเดินทางตัวคนเดียวไปยังประเทศคองโก หนึ่งในประเทศที่ยากจนและมีความขัดแย้งมากที่สุดในโลก ช่วยบริษัท PHAMAKINA ก่อตั้งโรงงานกลางป่าในเมือง BUKAVU ปลุกปล้ำโครงการนี้อยู่ 3 ปี ตั้งแต่วาดแผนผังโรงงาน รับมือกับการต่อต้านจากหลายฝ่ายที่ไม่อยากให้โครงการนี้สำเร็จ ตั้งแต่การขัดขวาง การหาวัตถุดิบ ลักขโมย หรือแม้แต่ลอบทำให้อุปกรณ์เสียหาย แต่สุดท้ายก็สามารถผลิตยาสามัญต้านไวรัสเอดส์ซึ่งมีส่วนผสมเหมือนกับยาสามัญในไทยทุกประการได้สำเร็จในปี 2548
ดร.กฤษณา อธิบายประสบการณ์ในช่วงนี้ว่า
“หลายคนสงสัยว่า ถ้าตัวยาเหมือนกับบ้านเราทุกอย่าง ทำไมเราไม่เอายาไปขายเลยล่ะ ดิฉันตอบไปว่า ดิฉันต้องการให้พวกเขาทำเอง ดิฉันเชื่อว่าถ้าเขาอยากกินปลา เราควรสอนเขาตกปลาเอง ไม่ใช่ว่าเอาปลาไปให้เขากิน เพราะไม่อย่างนั้นเขาไม่มีวันพึ่งตนเองได้”
การเดินทางข้ามทวีปหลายครั้งที่ดูเผินๆ เหมือนกับ ‘เร่ร่อน’ ของเธอเพื่อติดต่อสั่งซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ เดินสายบรรยายทางวิชาการ และหาแนวร่วมกับเอ็นจีโอและหน่วยงานรัฐ เป็นที่มาของสมญานามที่เธอเรียกตัวเองว่า ‘เภสัชกรยิบซี’

ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2552
เธอดำรงวิถีแห่ง ‘เภสัชกรยิบซี’ อย่างแข็งขัน เดินสายถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาต้านไวรัสในประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เซเนกัล แกมเบีย กาบอง ไนจีเรีย แทนซานีย มาลี และบูร์กินนาฟาโซ “ทำไมชีวิตยังต้องเร่ร่อนลอยไปลอยมา ยังหาคำตอบไม่ได้ รู้แต่ว่าเราอยากนำวิชาความรู้มาช่วยเหลือคนให้ได้มากที่สุด”
บางส่วนจากหนังสือ ผู้หญิงกลิ้งโลก
เรื่อง : สฤณี อาชวานันทกุล
เพราะโลกนี้มีผู้หญิง โลกกลมใบนี้จึงกลิ้งไปได้อย่างสวยงาม
เครดิตรูป:
www.facebook.com/dr.krisana