Make a Difference: 10 ผู้หญิงกลิ้งโลก
ผู้หญิงบางคนไม่เดือดร้อนกับการถูกใครนินทาว่า ‘ช้างเท้าหลัง’ หรือ ‘ตกถังข้าวสาร’ เพราะเชื่อมั่นว่าการกระทำของเธอจะพิสูจน์ตัวเองเมื่อเวลาผ่านไปนานพอ และช้างทุกตัวล้วนแต่ต้องอาศัยเท้าทั้งสี่เพื่อก้าวเดิน
พลังของ เมลินดา เกตส์ มาจากการผสานผนวกหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของเธอเข้ากับมันสมองที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันของสามีนาม บิล เกตส์ ชายผู้ร่ำรวยที่สุดในอเมริกา เพื่อขับเคลื่อนช้างตัวใหญ่ที่ชื่อ ‘มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์’ (Bill & Melinda Gates Foundation) ที่กำลังพยายามขจัดบรรดาความเหลื่อมล้ำที่ร้ายกาจที่สุดในโลก

ในปี 2006 บิลลาออกจากบริษัทไมโครซอฟต์ที่เขาก่อตั้งมาทำงานให้กับมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ เต็มตัวในฐานะประธานร่วมกับภรรยา มูลนิธิที่เขาและเมลินดาก่อตั้งนี้เป็นมูลนิธิเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันมีสินทรัพย์กว่า 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตัวเลขนี้รวมเงินกว่า 24,000 ล้านเหรียญที่บิลกับเมลินดาบริจาคเป็นทุนประเดิม แต่ยังไม่นับหุ้นบริษัท เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ ที่ วอร์เรน บัพเฟตต์ สัญญาว่าจะมอบให้กับมูลนิธิ หุ้นเหล่านี้ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้ารวมเงินที่สามีภรรยาเกตส์จะทยอยมอบให้กับมูลนิธิในอนาคต มูลนิธิแห่งนี้ก็น่าจะได้จ่ายเงินอุดหนุนรวมกว่า 100,000 ล้านเหรียญ ก่อนที่ผู้ก่อตั้งทั้งสองจะล่วงลับ
ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2009 มูลนิธินี้จ่ายเงินอุดหนุนในโครงการต่างๆ ไปแล้วถึง 14,400 ล้านเหรียญมากกว่าเงินที่มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ (มูลนิธิที่โด่งดังที่สุดในอเมริกา ก่อตั้งโดยจอห์น ร็อกกีเฟลเลอร์ ผู้ล่วงลับ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศ) จ่ายมาทั้งหมดตั้งแต่ปีที่ก่อตั้งมูลนิธิ คือ ค.ศ. 1913

มูลนิธิที่รวยที่สุดในโลก
มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ มีเป้าหมายที่ทะเยอทะยานสมกับเป็นมูลนิธิที่รวยที่สุดในโลก จดหมายของสองสามีภรรยาคู่นี้บนเว็บไซต์ของมูลนิธิประกาศว่าอยากช่วยให้ทุกคนในโลก ‘มีโอกาสใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ’ ภายในศตวรรษนี้ ซึ่งนั่นหมายถึงการกำจัดความหิวโหยและ ‘โรคคนจน’ – สองปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากที่สุดในโลก แต่กลับถูกละเลยมากที่สุด
แน่นอนว่ามูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ไม่ใช่มูลนิธิแรกที่พยายามรับมือกับปัญหานี้ แต่ในขณะที่มูลนิธิส่วนใหญ่บริจาคเงินให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือสถาบันที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างเช่นสมาคมมะเร็งอเมริกัน มูลนิธินี้กลับลงมือวิเคราะห์เจาะลึกถึงรากสาเหตุและประเมินวิธีแก้ต่างๆ อย่างละเอียดลออไม่ต่างจากบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อเลือกให้เงินอุดหนุนกับวิธีแก้ที่ส่งผลกระทบสูงสุดและคุ้มค่าเงินมากที่สุด ซึ่งมักจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนหรือบริษัทเพื่อสังคมที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ถอดด้าม อาทิ สถาบันวันเวิลด์ เฮลธ์ (Institute of OneWorld Health) ผู้คิดค้นยารักษาโรคไข้กาฬ หนึ่งใน ‘โรคคนจน’ ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกกว่า 200,000 คนในแต่ละปีได้สำเร็จ ด้วยการวิจัยต่อยอดจากสูตร ‘ยากำพร้า’ ที่บริษัทยาเก็บขึ้นหิ้งไปเพราะคิดว่าทำกำไรไม่ได้ สามารถลดต้นทุนด้านการวิจัย การผลิต และการกระจายยาลงอย่างฮวบฮาบจนขายได้ในราคาเข็มละไม่ถึงหนึ่งเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้มูลนิธิยังช่วยก่อตั้งและให้เงินอุดหนุนกว่า 1,500 ล้านเหรียญกับแนวร่วมระหว่างภาครัฐกับเอกชน ชื่อ Global Alliance for Vaccines and Immunization (GAM) ซึ่งช่วยประเทศกำลังพัฒนาสั่งซื้อและนำวัคซีนไปยังผู้ป่วยยากจนที่ต้องการมันที่สุด องค์การอนามัยโลกประเมินว่า GAVI ได้ช่วยชีวิตคนกว่า 3.4 ล้านคนในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา และฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสในตับและไข้เหลืองให้กับเด็กกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก
มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ไม่ได้ให้เงินอุดหนุนแต่เฉพาะโครงการขนาดใหญ่เท่านั้น ขณะที่บิลให้ความสนใจกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ล้ำสมัยที่อาจใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะเห็นผล ภรรยาของเขาสนใจกับการหาวิธีบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ยากไร้ที่นี่เดี๋ยวนี้ ดังที่เธอเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฟอร์จูน เมื่อต้นปี 2008 ว่า
“คุณช่วยชีวิตเด็กด้วยวัคซีนอย่างเดียวไม่ได้…เวลาที่ฉันไปเยือนหมู่บ้านในชนบทอินเดีย ฉันจะคิดว่า เอาล่ะ เราช่วยเด็กคนนี้ได้แล้ว แต่ฝูงวัวก็ยังถ่ายลงแม่น้ำที่ชาวบ้านใช้ มีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่เราต้องทำ”
‘เรื่องอื่นๆ’ สำหรับเมลินดาหมายถึงเรื่องเล็กที่ได้ผลดีและทำได้ทันที เช่น การแจกมุ้ง และสอดแทรกสาระเกี่ยวกับสุขภาพและการศึกษาในเคเบิลทีวี กิจกรรมของมูลนิธิแห่งนี้ส่วนใหญ่สะท้อนความสนใจและวิสัยทัศน์ของเมลินดามากจนคนใกล้ชิดหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า น่าจะใช้ชื่อ ‘มูลนิธิเมลินดาและบิล เกตส์’ ไม่ใช่ ‘มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์’
วอร์เรน บัพเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนผู้เป็นเพื่อนสนิทของสามีภรรยาคู่นี้ตั้งแต่ปี 1991 กล่าวว่า
“บิลต้องการเธอจริงๆ”
ส่วนบิลเองก็เคยเอ่ยปากว่า ถ้าไม่มีเมลินดา มูลนิธิแห่งนี้ก็ไม่มีวันเกิด
(มูลนิธิต้นธารของมูลนิธิแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นจากแรงบันดาลใจในจดหมายที่แม่ของบิลเขียนถึงเมลินดาในงานเลี้ยงเจ้าสาว ใจความตอนหนึ่งว่า
“คนที่ได้รับอะไรไปมาก ย่อมถูกคาดหวังว่าจะให้มากเช่นกัน”
แม่ของบิลเสียชีวิตจากโรคมะเร็งหกเดือนหลังจากนั้น)

ชีวิตที่เคลื่อนไปข้างหน้า พร้อมศรัทธาเรื่องการรับใช้สังคม
การแต่งงานกับมหาเศรษฐีจอมเนิร์ดอย่างบิล เกตส์ อาจเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนนึกในใจทันทีว่า ‘แต่งงานเพราะเงิน’ แต่เมลินดาไม่เคยยี่หระกับข้อครหาทั้งหลาย เธอเองก็เป็นเนิร์ดไม่แพ้สามี แต่เป็นเนิร์ดที่ศรัทธาเรื่องการรับใช้สังคมตั้งแต่เด็ก เธอจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และคอมพิวเตอร์ และโทด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยดุ๊คภายในห้าปี ได้งานทำที่ไมโครซอฟต์ในปี 1987 ตั้งแต่อายุเพียง 22 ปี ไต่เต้าอย่างรวดเร็วด้วยฝีมือและความทุ่มเทจนได้เป็นหัวหน้าทีมพัฒนาโปรแกรมสำคัญๆ ของไมโครซอฟต์ อาทิ พับลิชเชอร์ เอ็นคาร์ตา และเอ็กซ์พีเดีย (รวมทั้งไมโครซอฟต์บ็อบ ระบบปฏิบัติการสำหรับครอบครัวที่ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เพราะ “มันน่ารักเกินไป” ในมุมมองของเมลินดา)
เวลาผ่านไปอีกเท่าตัว วันนี้เมลินดาในวัย 44 ปี กำลังทุ่มเทให้กับมูลนิธิของเธอและบิลด้วยพลังและความรักไม่ต่างจากตอนที่โหมทำงานให้ไมโครซอฟต์ เธอกล่าวกับนิตยสารโวค ในบทสัมภาษณ์ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2009 เกี่ยวกับงานของเธอว่า
“คุณต้องถ่อมตัวในสิ่งที่คุณกำลังทำ แต่คุณก็จะต้องกล้าเหมือนกัน…คุณจะต้องถามตัวเองว่า เราจะช่วยให้คนจนมีข้าวกินหรือจะถกเถียงกันในหอคอยงาช้างว่าจะทำเรื่องนี้กันอย่างไร ฉันอยากให้คนได้ใช้ชีวิตและอยู่รอด ดังนั้น ฉันก็จะออกไปลองทำอะไรสักอย่าง ถ้าเราลองแล้วไม่ได้ผล เราก็จะลองวิธีอื่น เราจะลองไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะพบวิธีที่แก้ปัญหาได้”

จุดอ่อนของหลายองค์กร คือ ‘หัวใจ’ มักจะใหญ่กว่า ‘สมอง’
ความมุ่งมั่นและดึงดันของเมลินดาที่จะนำหลักการบริหารจัดการที่เข้มข้นจากโลกธุรกิจมาประยุกต์ใช้กับโลกการกุศล เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักสังเกตการณ์หลายคนมองว่างานของมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ไม่เพียงแต่จะสร้างประโยชน์มหาศาลในแง่ของเม็ดเงินที่ใช้ไป แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ วิถีปฏิบัติและการบริหารจัดการเงินของมูลนิธินี้อาจมีอิทธิพลถึงขนาดปฏิวัติการกุศลทั้งวงการเลยทีเดียว เพราะ ‘จุดอ่อน’ ข้อหนึ่งขององค์กรหลายแห่งที่ทำงานในภาคนี้คือ ‘หัวใจ’ มักจะใหญ่กว่า ‘สมอง’ จนบางครั้งเลือกให้เงินกับโครงการที่สร้างผลตอบแทนทางสังคมสูงจริง แต่ไม่ยั่งยืนและใช้เงินไม่เป็น
จิตสาธารณะของเมลินดาไม่ลึกเพียงอย่างเดียว แต่ยังกว้างขวางอีกด้วย – เมื่อมีคนถามว่าเธอไม่รู้สึกบาปหรือที่รณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยในทวีปแอฟริกา ทั้งที่เป็นชาวคริสต์นิกายคาทอลิกที่ไปโบสถ์ทุกสัปดาห์ เมลินดาตอบสั้นๆ แต่เพียงว่า “ถุงยางช่วยชีวิตคน”
“ถ้าคุณประสบความสำเร็จ มันก็เป็นเพราะมีคนที่ไหนสักแห่ง เวลาใดเวลาหนึ่ง ที่มอบชีวิตหรือความคิดที่ทำให้คุณเริ่มออกเดินในทิศทางที่ถูกต้อง อย่าลืมว่าคุณเป็นหนี้ชีวิตจนกว่าคุณจะช่วยใครสักคนที่โชคไม่ดีเท่ากับคุณ เหมือนกับที่มีคนเคยช่วยคุณมาแล้ว”
เมลินดา เกตส์, คำอำลาโรงเรียนมัธยมในฐานะตัวแทนนักเรียน, 1982
บางส่วนจากหนังสือ ผู้หญิงกลิ้งโลก
เรื่อง : สฤณี อาชวานันทกุล
เพราะโลกนี้มีผู้หญิง โลกกลมใบนี้จึงกลิ้งไปได้อย่างสวยงาม