Make a Difference: 10 ผู้หญิงกลิ้งโลก
ผู้หญิงบางคนเปลี่ยนโลกด้วยการมอบความเห็นอกเห็นใจที่จริงใจผ่านจอ ทำให้คนนับล้านได้แรงบันดาลใจในการสู้ชีวิต ไม่ว่าจะผิดพลาดหรือเจ็บปวดมามากเพียงใด
ในปี 1954 หนุ่มวัย 20 กับสาววัย 18 นามเวอร์นอน กับเวอร์นิตา ลี ให้กำเนิดเด็กหญิงออร์ปาห์ (Orpah) ในเมืองชนบทเล็กๆ ชื่อ คอสซีอัสโก มลรัฐมิสซิสซิปปีของอเมริกา แต่เธออ่านชื่อของตัวเองไม่ชัด บิดามารดาจึงไปแจ้งเปลี่ยนชื่อเป็น โอปราห์ (Oprah)

เด็กหญิงกับกองหนังสือและจอแก้ว
เวอร์นอนกับเวอร์นิตาแยกทางกันตั้งแต่โอปราห์จำความได้ แม่ของเธอย้ายไปหางานทำในเมืองมิลวอกี ทิ้งลูกให้ยายดูแล ยายของเธอปลูกนิสัยรักการอ่านให้กับหนูน้อยโอปราห์ สอนให้เธออ่านหนังสือออกตั้งแต่เด็ก ในวัยเพียง 3 ขวบ หนูน้อยสามารถอ่านคัมภีร์ไบเบิลให้ยายฟังได้
ตอนเธออายุ 6 ขวบ ยายล้มหมอนนอนเสื่อ โอปราห์ถูกส่งตัวไปอยู่กับแม่ที่มิลวอกี เวอร์นิตาทำงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาด ฐานะยากจน ต้องเบิกเงินประกันสังคมมาเลี้ยงดูครอบครัว เธอไม่ค่อยมีเวลาอยู่บ้านกับลูกๆ และเมื่ออยู่บ้านก็ไม่ค่อยได้ดูแล ทำให้โอปราห์กับน้องมีทีวีเป็นเพื่อน
การนั่งจ้องจอแก้วทุกวันจุดประกายความคิดว่า วันหนึ่งเธออยากโด่งดัง
แต่ความฝันพลันดับวูบลงในวัยเพียง 9 ขวบ เมื่อโอปราห์ถูกลูกพี่ลูกน้องวัย 19 ข่มขืน
เขาพาเธอไปซื้อไอศกรีม ขู่ไม่ให้บอกใคร ไม่อย่างนั้นจะเจอดี

ต่อมาอีกสองปี โอปราห์ก็ถูกเพื่อนแม่และลุงลวนลามทางเพศซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกครั้งเธอปิดปากเงียบไม่เคยบอกใครเลย แต่ระเบิดความเก็บกดออกมาในรูปการ ‘ขบถ’ แบบวัยรุ่น
เธอเริ่มโดดเรียนทั้งที่เป็นนักเรียนเรียนดีมาตลอด ขโมยเงินจากแม่ คบคนไม่เลือกหน้า และหนีออกจากบ้าน จนถึงจุดหนึ่งเวอร์นิตาก็รู้สึกว่าคุมลูกสาวของเธอไม่ได้ ส่งตัวโอปราห์กลับไปอยู่กับพ่อที่แนชวิลล์
โอปราห์พบว่าตัวเองตั้งครรภ์ในวัยเพียง 14 ปี เธอปิดบังพ่อแม่บังเกิดเกล้าจนถึงเดือนที่ 7 เมื่อสุดท้ายเธอยอมบอกพ่อ โอปราห์ก็เจ็บครรภ์อย่างรุนแรง คลอดลูกชายก่อนกำหนดในวันเดียวกัน
ลูกคนแรกของเธอมีเวลาดูโลกเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้นก่อนลาโลก

หนังสือที่เปลี่ยนชีวิตวัยรุ่นหัวขบถ
จุดพลิกผันครั้งใหญ่ในชีวิตของโอปราห์มาถึงตอนอายุ 16 ปี เมื่อเธอได้อ่านหนังสือเรื่อง‘I Know Why the Caged Bird Sings’ อัตชีวประวัติเล่มแรกของ ดร.มายา แองเจลู นักเขียนหญิงอเมริกันผิวดำผู้โด่งดัง
หนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดเรื่องราว 17 ปีแรกในชีวิตของผู้เขียน หลายบทตอนพ้องกับชีวิตของโอปราห์ราวกับส่องหน้าในกระจก อย่างตอนที่เธอเล่าว่าถูกเพื่อนแม่ข่มขืนในวัย 8 ขวบ โอปราห์กล่าวภายหลังว่า “ฉันอ่านหนังสือเล่มนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เคยเลยที่ฉันจะได้อ่านหนังสือซึ่งทำให้ชีวิตของฉันมีความหมายขึ้นมา”
ดร.แองเจลู ต่อมากลายเป็นเพื่อนสนิทที่สุดคนหนึ่งของโอปราห์
หนังสือของดร.แองเจลู ทำให้โอปราห์ตัดสินใจสู้ชีวิตอีกครั้ง เธอเลิกชีวิตขบถวัยรุ่น หันไปมุ่งเรียนหนังสือและฝึกฝนการพูดสาธารณะ กิจกรรมโปรดซึ่งเธอฉายแววตั้งแต่ยังเป็นหลานตัวน้อยที่อ่านไบเบิลให้ยายและเพื่อนของยายฟังในโบสถ์
พรสวรรค์และความอุตสาหะของโอปราห์ไม่นานก็เริ่มส่องประกาย

เส้นทางของพิธีกรผู้ทรงอิทธิพลของโลก
ในปี 1970 เธอชนะการแข่งขันพูดสาธารณะ ได้รางวัลเป็นทุนเรียนต่อปริญญาตรีสี่ปี หลังจบปริญญา เธอได้งานเป็นผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ และในปี 1976 ก็ได้เป็นพิธีกรคู่ในรายการทอล์กโชว์ยามเช้า ชื่อ ‘People are talking’
รายการนี้ดังเป็นพลุแตกอย่างรวดเร็ว โอปราห์ถูกจีบไปช่วยฟื้นคืนชีพรายการโทรทัศน์ช่วงเช้าชื่อ ‘AM Chicago’ ซึ่งกำลังตกต่ำในเมืองชิคาโก ทำให้เธอได้จัดรายการเดี่ยวเป็นครั้งแรก
ความสามารถในการพูดของโอปราห์ ประกอบกับสไตล์ ‘เปิดเผย’ เป็นกันเองและอบอุ่นของเธอ – การถูกข่มขืน คลอดลูกก่อนกำหนด และวิถีชีวิตแบบขบถวัยรุ่น ล้วนถูกโอปราห์นำมาเปิดโปงเองในรายการ – ทำให้โอปราห์แซงหน้ารายการคู่แข่งและขึ้นสู่เรตติ้งอันดับหนึ่งได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน ส่งผลให้เธอโด่งดังระดับชาติ ได้แสดงภาพยนตร์ครั้งแรกในชีวิตปี 1985 เรื่อง ‘The Color Purple’ โดยผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก
โอปราห์ตีบทแตก เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

ปีต่อมาเธอเปิดตัวรายการทอล์กโชว์ ‘Oprah Winfrey Show’ โด่งดังเป็นพลุแตกอย่างรวดเร็วด้วยสไตล์พิธีกรที่ตรงไปตรงมาแต่เอื้ออารี พูดคุยอย่างเปิดเผย ตัวเองรับฟังโดยไม่ตัดสิน โดยมีคนดูทั้งห้องส่งและทางบ้านเอาใจช่วย
เปลี่ยนทีวีให้เป็นเวทีเปิดอกคุยของผู้คน ไม่ใช่สร้างดราม่าเรียกเรตติ้งและฉายภาพตัวเองเป็นฮีโร่แบบที่สื่อบางคนชอบทำ
รายการ Oprah Winfrey Show กลายเป็นทอล์กโชว์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์
ถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์กว่า 120 ช่องในอเมริกา และอีก 140 ประเทศทั่วโลก มีผู้ชมเฉลี่ย 46 ล้านคนต่อสัปดาห์ในอเมริกาประเทศเดียว
กว่ารายการนี้จะปิดฉากใน 25 ปีต่อมา เมื่อปี 2011 โอปราห์ก็กลายเป็นชาวอเมริกันผิวดำที่รวยที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ และเป็นมหาเศรษฐีพันล้านผิวดำเพียงคนเดียวติดกัน 3 ปี
ความสำเร็จของโอปราห์ทำให้เธอได้รับรางวัลสูงสุดของวงการโทรทัศน์ อาทิ รางวัลเอ็มมีLifetime Achievement Award และมีอิทธิพลถึงขนาดที่นิตยสารไลฟ์ เรียกเธอว่า ‘ผู้หญิงผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดแห่งยุคของเธอ’
แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่ารางวัลเหล่านี้คือวิธีที่โอปราห์ปฏิวัติวงการสื่อ
สื่อมวลชนกับวิธีกลิ้งโลก
นักวิจารณ์ทั่วโลกให้เครดิตโอปราห์ว่าเป็นผู้สร้าง ‘วัฒนธรรมการรับสารภาพ’ ต่อความผิดพลาดหรือรอยด่างในชีวิตต่อหน้าสาธารณะ ไม่เว้นแม้แต่ชีวิตของเธอเอง แทบทุกแง่มุมในอดีตและปัจจุบันของโอปราห์กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับรายการ ถึงแม้บางคนจะบ่นว่าบางตอน ‘ดราม่า’ และ ‘ฉาบฉวย’ เกินไป
ในฐานะสื่อมวลชน โอปราห์ไม่ได้เป็นสื่อประเภทที่เอาความดังของตัวเองมา ‘หากิน’ อย่างมักง่ายและไร้จรรยาบรรณ ยกตัวอย่างเช่น หนังสือที่เธอเลือกมาแนะนำในช่วง ‘Oprah’s Book Club’ นั้น หาใช่โฆษณาแฝงแบบเนียนๆ หากแต่เป็นหนังสือที่เธอคัดเลือกมาด้วยความรักในการอ่านและหวังดีต่อคนดูอย่างจริงใจ หลายเล่มเขียนโดยนักเขียนโนเนมซึ่งโด่งดังเป็นพลุแตกหลังจากที่โอปราห์หยิบมาแนะนำในรายการ
ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจหนังสือจำนวนมากให้เครดิตเธอว่า โอปราห์ช่วยทำให้ ‘การอ่าน’ เป็นที่นิยมของผู้คนอย่างกว้างขวาง ในฐานะ ‘กิจกรรมทางสังคม’ ที่คนมองเห็นคุณค่าของการทำร่วมกัน คืออ่านหนังสือแล้วมาถกกันอย่างสนุกสนาน

อีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งยืนยันจรรยาบรรณของโอปราห์คือ ในปี 1994 เมื่อทอล์กโชว์รายการอื่นเริ่มใช้วิธีการแฉชีวิตส่วนตัวและฉวยโอกาสจากจุดอ่อนหรือปัญหาชีวิตของคนโดยที่เขาไม่ยินยอมในการเรียกเรตติ้ง โอปราห์ประกาศว่าเธอจะไม่ตามกระแสนี้ การตัดสินใจดังกล่าวทำให้เรตติ้งรายการของเธอดิ่งลง แต่ต่อมาไม่นานคนดูก็ให้การยอมรับและนับถือจุดยืนของเธอ ส่งผลให้เรตติ้งของรายการพุ่งกระฉูดอีกครั้ง
ถึงแม้ว่าเธอจะมีรายได้มหาศาลจากค่าโฆษณา โอปราห์ก็ไม่เคยปล่อยให้ภาคธุรกิจแทรกแซงรายการ และไม่กลัวที่จะต่อกรกับธุรกิจใหญ่
ในปี 1996 เธอถูกบริษัทเนื้อสัตว์ฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากที่เธอแฉวิถีธุรกิจของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ว่าไร้มนุษยธรรมและเปี่ยมอันตรายเพียงใด มีส่วนก่อให้เกิดโรค ‘Mad Cow’ อย่างไร ด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาออกรายการ ต่อมาศาลตัดสินว่าเธอไม่ผิด
ในปี 2008 เธอได้รับการขนานนามเป็น ‘บุคคลแห่งปี’ โดย PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) กลุ่มรณรงค์สิทธิสัตว์ชื่อดัง จากการเปิดโปงความโหดร้ายทารุณต่อสัตว์ในรายการของเธอ และปฏิเสธที่จะสวมเสื้อขนสัตว์หรือรับโฆษณาจากบริษัทผู้ผลิต

นอกจากเธอจะเป็นสื่อที่ขีดเส้นแบ่งอย่างชัดเจนระหว่างความเห็นแก่ได้กับความถูกต้อง โอปราห์ยังขึ้นชื่อว่าเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเด็กตัวยง ในปี 1994 ประธานาธิบดีคลินตันลงนามในกฎหมายที่โอปราห์เสนอต่อสภาคองเกรสสร้างฐานข้อมูลผู้ล่วงละเมิดสิทธิเด็ก
เธอยังได้มอบเงินส่วนตัวถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับการกุศลจวบจนปัจจุบัน ทำให้นิตยสารบิสิเนส วีค ขนานนามเธอว่า ‘นักการกุศลผิวดำที่ยิ่งใหญ่ที่สุด’ ในประวัติศาสตร์อเมริกา
ไม่ว่าโอปราห์จะร่ำรวยมหาศาลเพียงใด สุดท้ายเธอก็ไม่ได้เปลี่ยนโลกเพราะเงิน หรือทำตัวเป็น ‘ฮีโร่’ แบบที่สื่อผู้มีอิทธิพลบางรายในไทยชอบทำ
เธอเปลี่ยนโลกเพราะเป็นสื่อที่มิได้ทรยศต่อตัวเอง ต่อคนรอบข้าง ต่อวิชาชีพ และแสดงจุดยืนอย่างมั่นคงในประเด็นสังคมสำคัญๆ แห่งยุคสมัยตลอดมา
จึงนับว่าโด่งดังอย่างคู่ควรกับชื่อเสียงที่ได้รับทุกประการ
บางส่วนจากหนังสือ ผู้หญิงกลิ้งโลก
เรื่อง : สฤณี อาชวานันทกุล
เพราะโลกนี้มีผู้หญิง โลกกลมใบนี้จึงกลิ้งไปได้อย่างสวยงาม