Make a Difference: 10 ผู้หญิงกลิ้งโลก
ผู้หญิงบางคนเปลี่ยนโลกด้วยการแสร้งเป็นคนอื่นอย่างแนบเนียน จนสะกดคนดูให้เกิดอารมณ์ร่วมกับตัวละครแทบทุกครั้งที่ปรากฏกายบนจอแก้วหรือจอเงิน
ในเมื่ออารมณ์ร่วมคือบ่อเกิดของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา และการเอาใจเขามาใส่ใจเราคือก้าวแรกสู่ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ก่อนไปถึงขั้นลงมือช่วยเหลือนักแสดงที่สร้างอารมณ์ร่วมผ่านบทที่หลากหลายจึงมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่สายตามองไม่เห็น แต่อาจยั่งยืนนานกว่าอายุขัยของคนหนึ่งคน
นักแสดงชั้นเลิศที่ร่ายมนตร์สะกดคนดูทั้งในจอและนอกจอมักถูกคนคาดหวังว่าต้องเฉิดฉายพริ้งพรายอยู่ทุกเมื่อเชื่อยาม ติดใจในแสงสีของโลกมายาจนถอนตัวไม่ขึ้น แต่ดาราหญิงผู้นี้กลับประกาศว่า “ฮอลลีวูดสำหรับฉันก็เหมือนกับสำหรับคนทั่วไป…มันไม่ใช่ฉัน ฉันอยู่ข้างนอกของมัน”

ตั้งแต่เธอลืมตาดูโลกในปี 1940 ในเมืองซัมมิท มลรัฐนิวเจอร์ซี เด็กหญิงแมรี หลุยส์ สตรีป ก็หลังรักการแสดงตั้งแต่เด็ก สมัยเรียนประถมเธอได้เป็นหนึ่งในคณะนักร้องประสานเสียงของโรงเรียน หล่อเลี้ยงความฝันว่าอยากเป็นนักร้องโอเปรา แต่ครั้งแรกที่พรสวรรค์ด้านการแสดงฉายแวว คือตอนที่เธอแสดงละครเวทีโรงเรียนครั้งแรกในชีวิต ร้องเดี่ยวเพลง ‘โอ โฮลี ไนต์’ (คืนศักดิ์สิทธิ์) เป็นภาษาฝรั่งเศสอย่างถูกสำเนียงไม่มีผิดเพี้ยน ทั้งที่เธอเรียนภาษานี้ได้ไม่กี่เดือน
แต่เด็กหญิงสตรีปก็ยังใส่แว่นหน้า ขี้อาย และไม่ชอบพูดอยู่นั่นเอง จนกระทั่งได้แสดงเป็นบรรณารักษ์ในละครเวทีของโรงเรียนเรื่อง เดอะ มิวสิก แมน
หลังละครจบ คนดูทั้งโรงลุกขึ้นยืนปรบมือให้กับเธอ
เสียงตอบรับในวันนั้นจุดประกายให้สตรีป ‘ออกมาจากเปลือก’ และเลิกรู้สึกแย่กับตัวเอง
“พอขึ้นมัธยมปลาย การแสดงอีกรูปแบบหนึ่งก็ครอบงำฉัน ฉันอยากเรียนรู้ว่าจะมีเสน่ห์ได้อย่างไร ดังนั้นฉันจึงศึกษาตัวละครที่ฉันคิดว่าฉันอยากเป็น นั่นคือเด็กสาวมัธยมที่สวยดาดๆ ฉันวิจัยเธออย่างลึกซึ้ง นั่นคืออย่างฉาบฉวยในนิตยสารโว้ก เซเวนทีน และมาดมัวแซล ฉันพยายามเลียนแบบทรงผมของเธอ ลิปสติกของเธอ ขนตาของเธอ เสื้อผ้าของสาวมัธยมหุ่นอรชรอ้อนแอ้นหน้าตาดีดาษดื่น วันหนึ่งๆ ฉันกินแค่แอปเปิ้ลหนึ่งลูก กัดสีผม รีดมันให้ตรง ฉันอยากได้เสื้อผ้าแบรนด์เนม ซึ่งแม่ไม่ยอมฉันเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามฉันคิดว่าตัวเองศึกษาตัวละครตัวนี้หนักกว่าทุกตัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”
“…ฉันปรับนิสัยโดยธรรมชาติของตัวเองซึ่งเจ้าบงการหน่อยๆ ดื้อดึงนิดๆ เสียงดัง โผงผาง ร่าเริง ฉันตั้งใจฝึกฝนความหวานแบบนิ่มนวล เสนาะหู สบายใจ และให้ดูเป็นธรรมชาติที่สุด แม้แต่ความขวยเขินซึ่งได้ผลดีมากเลยกับหนุ่มๆ แต่สาวๆ ไม่ซื้อเลยค่ะ พวกเธอไม่ชอบฉัน และรู้ว่าฉันเสแสร้ง พวกเธอคงถูกนั่นแหละ แต่ฉันเทใจให้กับการแสดงไปแล้ว นี่ไม่ใช่แบบฝึกหัดของคนที่มองโลกในแง่ร้าย ฉันกำลังพัฒนาทักษะเอาตัวรอดเก่าแก่ของการหาคู่”
“พอถึงมัธยมหก ฉันก็ไปถึงจุดที่รู้สึกว่าตัวละครนั้นคือตัวฉันเอง ฉันหว่านล้อมตัวเองให้เชื่อว่าฉันคือเธอ และเธอก็คือฉัน สาวน้อยสวยเด่นผู้เปี่ยมพรสวรรค์ แต่ไม่เย่อหยิ่ง คุณรู้ใช่ไหม สาวน้อยที่หัวเราะเยอะมากให้กับเรื่องงี่เง่าทุกเรื่องที่ผู้ชายพูด หลบตาในจังหวะที่ถูกต้องและคล้อยตาม เรียนรู้ที่จะคล้อยตามเวลาหนุ่มๆ ขึ้นนำการสนทนา ฉันจำเรื่องนี้ได้แม่นและบอกได้เลยว่ามันได้ผล พวกผู้ชายรู้สึกว่าฉันน่ารำคาญน้อยลง พวกเขาชอบฉันมากขึ้น ซึ่งฉันชอบ นี่เป็นการแสดงที่จงใจ แต่ในขณะเดียวกันก็มีแรงจูงใจและสวมบทอย่างแนบสนิทเป็นการแสดงที่แท้จริง”
สตรีปย้อมผมเป็นสีบลอนด์ ถอดแว่นออก ใส่คอนแท็กเลนส์แทน ไม่เหลือเค้าเด็กเรียนขี้อายคนเดิมอีกแล้ว ความนิยมของเธอพุ่งกระฉูดจนได้รับการโหวตเป็นดาวประจำโรงเรียนก่อนจบมัธยมหก และเมื่อเธอเข้าเรียนที่แวสซาร์ มหาวิทยาลัยสตรีล้วนอันโด่งดัง เธอก็เลือกเรียนละครและไม่เคยเปลี่ยนเส้นทางชีวิตอีกเลย
หลังจบปริญญาโทด้านการแสดงจากมหาวิทยาลัยเยล เธอเริ่มต้นชีวิตการเป็นนักแสดงปลายทศวรรษ 1960 ด้วยบทตัวประกอบในละครบรอดเวย์หลายเรื่องในมหานครนิวยอร์ก ระหว่างนั้นทำงานหาลำไพ่พิเศษเป็นสาวเสิร์ฟในโรงแรม พอถึงปี 1977 เธอก็ดังเป็นพลุแตกอย่างรวดเร็วด้วยบทเด่นในภาพยนตร์เรื่อง จูเลีย ส่งผลให้ปีต่อมาเธอได้รับการคัดเลือกให้แสดงร่วมกับสองนักแสดงดาวรุ่งในสมัยนั้น คือโรเบิร์ต เดอ นีโร และคริส วอลเคน โดยเล่นเป็นลินดา สาวบ้านนอกใสซื่อที่เฝ้ารอคอยหนุ่มคนรักกลับมาจากสงครามเวียดนาม

ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ เดียร์ ฮันเตอร์ ชนะรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และเธอก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งแรกในชีวิต ในสาขานักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม
สตรีปพลาดรางวัลออสการ์ก็จริง แต่เธอกลับได้สิ่งอื่นที่สำคัญกว่ามาแทน
หลังจากที่ จอห์น คาซาล คู่หมั้นของเธอทนทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็งกระดูกตลอดการถ่ายทำ เดียร์ ฮันเตอร์ และลาโลกไปหลังจากที่ภาพยนตร์ออกฉายได้ไม่นาน เธอย้ายของออกจากอพาร์ตเมนต์ของเขา ตอบรับคำเชิญของ ดอน กัมเมอร์ ประติมากรผู้เป็นเพื่อนน้องชายให้ไปอยู่บ้านเขาชั่วคราวระหว่างที่เจ้าตัวเดินทางท่องยุโรป เมื่อเขากลับมา เจ้าของบ้านก็เชื้อเชิญให้สตรีปอยู่ต่อ หลังจากนั้นหกเดือน เขาและเธอก็แต่งงานกัน มีบุตรด้วยกันสี่คน
ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่า การที่ดอนกับเมอริลยังอยู่ด้วยกันกว่าสามทศวรรษให้หลัง นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในโลกบันเทิงไม่แพ้จำนวนรางวัลที่เธอได้รับ
เมื่อถูกถามว่า ความลับแห่งความสำเร็จในชีวิตคู่ของเธอคืออะไร สตรีปตอบว่า “การเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนได้ใช้ชีวิตของตัวเอง”
สามีของเธอชอบตีกอล์ฟ ไม่ชอบดูหนังดูละคร และเธอก็ไม่เคยคะยั้นคะยอให้เขาดู

ในปี 1979 หนึ่งปีหลังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ครั้งแรก สตรีปก็คว้ารางวัลออสการ์ตัวแรกในชีวิต สาขาเดียวกันกับที่เธอเข้าชิงในปีก่อน จากบทผู้หญิงที่ตัดสินใจทิ้งครอบครัวไป แต่ภายหลังย้อนกลับมาต่อสู้ช่วงชิงสิทธิดูแลลูกชาย ในภาพยนตร์เรื่อง เครเมอร์ VS. เครเมอร์
หลังจากนั้นประวัติศาสตร์ก็บันทึกไว้หมดแล้ว…ดังที่ภาษิตฝรั่งว่าไว้ เธอได้รับบทเด่นที่หลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อว่านักแสดงคนหนึ่งจะทำได้ ตั้งแต่บทดรามาหนักๆ ไปจนถึงละครเพลง เริ่มมีแฟนๆ ติดตามผลงาน และเป็นที่กล่าวขานว่าสามารถเลียนสำเนียงภาษาถิ่นได้อย่างรวดเร็วและแนบเนียนราวกับเป็นเจ้าของภาษาเอง
ในปี 1992 เธอได้รับรางวัลออสการ์ตัวที่สองในชีวิต คราวนี้ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากบทสตรีชาวโปแลนด์ผู้ถูกประสบการณ์ช่วงนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวตามหลอกหลอน ในภาพยนตร์เรื่อง โซฟีส์ ชอยส์
ก่อนอายุแตะเลข 40 สตรีปได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลระดับโลกกว่า 30 รางวัล จากภาพยนตร์ 9 เรื่อง ในจำนวนนี้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 8 เรื่อง
“ฉันคิดว่าบทที่เขียนให้กับผู้หญิงวัยขนาดฉันหวือหวากว่า สุดขั้วกว่า… บทของนางเอกโรแมนติกคอมเมดี้ ซึ่งเป็นอะไรที่เป็นกระแสหลักมากๆ นั้นมักเขียนให้กับผู้หญิงอายุน้อยกว่า แต่ไม่เป็นไร ฉันคิดว่าฉันเป็นนักแสดงเน้นตัวละคร นักแสดงเวทีที่ทำอะไรหลายๆ อย่าง และก็ชอบที่จะทำอย่างนั้น… ฉันสนใจชีวิตที่หลากหลายของผู้คน ชอบศึกษาชีวิตที่ผ่านความโหดร้ายทารุณมามาก”

ในปี 2006 สตรีปดังเป็นพลุแตกอีกครั้งหนึ่งในวัย 57 ปี จากบท มิรันดา พรีสลีย์ บรรณาธิการ ‘อาร์ตตัวแม่’ ของนิตยสารแฟชั่นในจินตนาการ ซึ่งผู้แต่งนิยายได้รับแรงบันดาลใจจากพฤติกรรมและชีวิตจริงของ ‘ราชินีน้ำแข็ง’ แอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการนิตยสารโว้ก
ปี 2010 เธอเปรียบเทียบลินดาในภาพยนตร์เรื่องนี้ กับมิรันดาใน เดียร์ ฮันเตอร์ อย่างน่าคิดในปัจฉิมนิเทศ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
“ผู้ชายรุ่นเดียวกับฉัน รวมทั้งประธานาธิบดีคลินตัน ตอนที่ฉันเจอท่าน บอกว่าลินดาคือตัวละครโปรดที่พวกเขาชอบที่สุดในบรรดาตัวละครหญิงทั้งหมดที่ฉันเล่น…วันนี้มีตัววัดว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหนแล้ว ตัวละครของฉันที่ผู้ชายส่วนใหญ่บอกว่าเป็นตัวละครโปรดคือ มิรันดา พรีสลีย์ เจ้าแม่จอมเผด็จการ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร รันเวย์ ในภาพยนต์เรื่อง เดอะ เดวิล แวร์ส ปราด้า ฉันคิดว่านี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีมากเลย”
“พวกผู้ชายเข้าใจหัวอกมิรันดา พวกเขาอยากออกเดตกับลินดา พวกเขารู้สึกสงสารลินดา แต่รู้สึกเหมือนมิรันดา เข้าใจประเด็นของเธอ มาตรฐานสูงที่เธอกำหนดสำหรับตัวเองและคนอื่น การที่ไม่มีใครเห็นคุณค่าของตำแหน่งผู้นำเรื่อง ‘ไม่มีใครเข้าใจฉันเลย’”
“…พวกเขายืนอยู่นอกตัวละครตัวหนึ่งแล้วก็สงสารเธอ หลงรักเธอนิดๆ แต่มองโลกจากสายตาของตัวละครอีกตัว นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะทุกคนที่ทำหนังรู้ว่าสิ่งที่ทำยากที่สุดในโลกทั้งใบคือการหว่านล้อมให้คนดูชายแท้เข้าใจหัวอกตัวเอกสตรีจนรู้สึกว่าเธอคือตัวตนของเขา ปัจจัยนี้มากกว่าปัจจัยอื่นใดทั้งหมดอธิบายว่าทำไมเราถึงได้มีหนังแบบที่เรามี และทำไมบทที่ให้ผู้หญิงเป็นแม่เหล็กถึงได้มีน้อยเหลือเกิน”
“…ตอนนี้อะไรๆ เปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนในรุ่นของพวกคุณ ผู้ชายกำลังปรับตัว ถึงเวลาเสียที… พวกเขากำลังปรับตัวทั้งอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจโดยไม่ตระหนักว่ามันทำให้สถานการณ์ของพวกเราทุกคนดีขึ้น พวกเขากำลังเปลี่ยนแปลงอคติที่อยู่ลึกที่สุดให้มองสิ่งต่างๆ ว่าเป็นปกติ สิ่งซึ่งพ่อของพวกเขายอมรับได้ยากมากๆ และปู่ของพวกเขาชิงชัง ประตูที่เปิดสู่การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์บานนี้คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา…และการเอาใจเขามาใส่ใจเราก็คือหัวใจของศิลปะนักแสดง”
“…การเสแสร้งไม่ใช่การละเล่นเท่านั้น การเสแสร้งคือการจินตนาการถึงความเป็นไปได้ การเสแสร้งหรือการแสดงคือทักษะชีวิตที่มีค่ามาก และเราทุกคนก็ใช้มันตลอดเวลา เราไม่อยากถูกจับได้ แต่มันก็เป็นส่วนสำคัญในการปรับตัวของเผ่าพันธุ์”
“เราเปลี่ยนตัวเราให้เข้ากับความจำเป็นเร่งด่วนของยุคสมัย ไม่ใช่แค่เป็นกลยุทธ์หรือเพื่อให้เราได้ประโยชน์ แต่บางทีก็ทำด้วยความเห็นอกเห็นใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป”

ในวัย 63 ปี เมอริล สตรีป ได้รับออสการ์ตัวที่สามในชีวิต จากบทบาท ‘สตรีเหล็ก’ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวเท่านั้นจากชีวิตและความคิดของเธอ เมอริล สตรีป ผู้ได้รับการกล่าวขานอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักแสดงหญิงที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ เจ้าของสถิติได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลระดับโลกมากที่สุด ในจำนวนนั้นรวมออสการ์ 17 ครั้ง และลูกโลกทองคำ 26 ครั้ง
ดาวค้างฟ้าที่เดินติดดินอย่างคงเส้นคงวาเสมอมา